วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เส้นทางดนตรีของลูกราชบุรี ชาตรี คงสุวรรณ

ชาตรี คงสุวรรณ
ที่มาของภาพ
วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาตรี คงสุวรรณ ชื่อเรียก โอม เป็นที่รู้จักกันในฐานะนักดนตรี(Musician) นักแต่งเพลง(Composer) ผู้ผลิตเพลง (Producer) และ ศิลปิน(Artist) ที่มีผลงานออกมาสู่ผู้ฟังเพลงไทยสากลตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนมากเป็นในรูปของเพลงที่เขาแต่งหรือผลิตขึ้น เขาเข้าสู่วงการดนตรีจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างทั่วประเทศครั้งแรก ในนามสมาชิกของวง ดิ อินโนเซ็นท์ (The Innocent) ในฐานะนักดนตรี นักแต่งเพลง จนกระทั่งผันตัวเองมาเป็น Producer ปัจจุบัน ยังมีสถานะเป็น ศิลปินเดี่ยวที่มีผลงานของตนเองเผยแพร่ ในสถานะทางธุรกิจยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร บริษัท มิสเตอร์มิวสิค (Mister Music) กิจการของตนเองที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเพลงและลิขสิทธิเพลง

ตลอดระยะเวลาที่อยู่บนเส้นทางดนตรีเกือบ 30 ปี งานของเขามีแนวทางดนตรีและเอกลักษณ์ที่ชัดเจน จะเน้นเนื้อหาของดนตรี มีความไพเราะทั้งทำนองและการเรียบเรียงดนตรีที่เรียบง่าย แต่มีการใช้เครื่องดนตรีในแต่ละเพลงอย่างสอดคล้องเหมาะสม  จนแม้กระทั่งนักแต่งเพลงด้วยกันก็ยอมรับว่า เพลงที่ผ่านการแต่งทำนองของโอม ชาตรี นำมาแต่งเนื้อร้องให้ได้ตามอารมณ์เพลงได้ง่าย และมักจะเป็นเพลงที่ประสพความสำเร็จติดหูคนฟังได้เป็นส่วนใหญ่

ในส่วนของความเป็นนักดนตรี เขาฝึกฝนในเครื่องดนตรีต่างๆจนกระทั่งมีเครื่องดนตรีที่สามารถเล่นจนอยู่ในขั้นนำมาประกอบอาชีพและนำมาใช้บันทึกเสียงในงานของเขา ได้แก่  Acoustic Guitar, Electric Guitar, Bass,Keyboards, Harmonica,Saxophone,Drum,Banjo,Pedle Steel Guitar


ประวัติ
โอม ชาตรี มีพื้นเพ เป็นคน จังหวัดราชบุรี เกิดวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2505 โดยกำเนิด เป็นบุตรคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 3 คน คุณพ่อเป็นข้าราชการมหาดไทย มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นนายอำเภอ  แต่คุณพ่อได้เสียชีวิตตั้งแต่เขายังเยาว์วัย จึงได้รับการเลี้ยงดูจากคุณแม่ตั้งแต่เด็กเรื่อยมา ได้รับการศึกษาขั้นต้น ถึงมัธยมศึกษา ที่โรงเรียน ดรุณาราชบุรี และศึกษาต่อสายอาชีวศึกษาในวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี แผนกช่างไฟฟ้า จนจบเส้นทางการศึกษาในสถาบันการศึกษาที่นี่ ด้วยความที่ตนเองเป็นคนที่ รักและสนใจดนตรีมาตลอด มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงในการเรียนรู้และฝึกฝน เขาจึงเลือกที่เข้ามาสู่สายอาชิพดนตรีในทันทีที่สำเร็จการศึกษา โดยไม่ได้ใช้วิชาการที่เรียนมาเป็นวิชาชีพ

เริ่มชีวิตนักดนตรี
ในวัยเยาว์ ระหว่างที่เรียนอยู่ในโรงเรียนดรุณาราชบุรี โอม ชาตรี ได้เริ่มฝึกหัดเครื่องดนตรีชิ้นแรก เป็นเครื่องเป่า Saxophone เพื่อที่จะเป็นนักดนตรีวงโยธวาทิตของโรงเรียน หลังจากนั้น ก็ขวนขวายที่จะศึกษาเรียนรู้ทางด้านดนตรีต่อไป โดยเครื่องดนตรีที่ฝึกหัดต่อมาคือ กีตาร์ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นมากในช่วงครึ่งศตวรรษมานี้

ในปี 2521 ด้วยวัยเพียง 16 ปี หลังจากมีฝีมือการเล่นกีตาร์ได้ในระดับหนึ่ง ก็ได้รับการชักชวนจากเพื่อน เข้าไปร่วมงานวงดนตรี ชื่อวงโรแมนติค (Romantics) และเป็นที่มาของการแต่งเพลง มนต์ไทรโยค ทั้งเนื้อร้องและทำนองขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นผลงานกับวงโรแมนติค วงนี้มีเพลงเป็นที่รู้จักในหมู่นักฟังเพลงอีกเพลง คือ บ้านสีเทา

หลังจากนั้น ปี 2524 ได้เข้ามาอยู่ร่วมเป็นสมาชิกของวงดนตรีรุ่นพี่ในจังหวัด ใช้ชื่อวง Four Singles เล่นดนตรี รับงานต่างๆ ในจังหวัดใกล้เคียงอยู่ได้ระยะหนึ่ง อาชีพนักดนตรีสำหรับเขา เป็นอาชีพเสริมในวัยรุ่นที่ต้องเรียนหนังสือไปด้วย ตั้งแต่ในช่วงเรียนหนังสือที่วิทยาลัยเทคนิค เขาเป็นนักฟังเพลงหลากแนว เป็นแฟนเพลงขนานแท้ของ ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ซึ่งถือเป็นวงดนตรีสตริงของไทยวงแรกที่ประสพความสำเร็จสูงสุดในแนวเพลงของตนเอง เป็นต้นแบบให้เดินตามรอยแก่นักดนตรีรุ่นหลัง

นอกจากนั้น เขายังชอบฟังเพลงสากล ซึ่งยุคนั้น เป็นยุคของ Hard Rock มีนักดนตรีดังๆ ซึ่งเป็นแนว Guitar Hero ต่อมาจึงเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาพัฒนาฝีมือทางด้านกีตาร์จนเริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงการดนตรี แม้ว่าจะเป็นนักดนตรีต่างจังหวัด แต่ก็มีบ่อยครั้งที่เขาเข้ามากรุงเทพฯ เพียงเพื่อเข้ามาหาซื้อเทป อัลบั้มใหม่ๆของศิลปินต่างประเทศทั้งอังกฤษและอเมริกา เพื่อให้เขาสามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของแนวทางของโลกดนตรีสากลในยุคนั้น

เส้นทางคนดนตรี
เข้าร่วมเป็นสมาชิก ดิ อินโนเซ้นท์
ปี พ.ศ 2525 เมื่อมีนักดนตรี รุ่นน้องโรงเรียน ดรุณาราชบุรี ซึ่งมีวงดนตรีของตนเอง และมีผลงานเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีเพลงฮิต ออกอัลบั้มเทป เป็นของตนเอง ชื่อวง ดิ อินโนเซ้นท์ (The Innocent) อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนรูปแบบของวง จากวงโฟล์คซอง มาเป็นวงดนตรีสตริง ด้วยความที่สมาชิกของวงเคยรู้จักในฝีมือทางด้านดนตรีเป็นอย่างดี โอม ชาตรี จึงได้รับการชักชวน ให้มาร่วมงานกันในฐานะนักกีตาร์และนักแต่งเพลง หลังจากตัดสินใจร่วมงานกัน เขาจึงต้องย้ายมาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ และนี่คือความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิตเขา ที่เปลี่ยนจากนักดนตรีสมัครเล่น มาเป็นนักดนตรีอาชีพ ที่หาเลี้ยงชีพด้วยความเป็นนักดนตรีและเสียงเพลงอย่างจริงๆจังๆ เขาเริ่มงานแรกโดยการเข้าห้องอัดเสียง ทำงานในฐานะนักดนตรี แต่งเพลงและอัดเสียง ให้กับ ดิ อินโนเซ็นท์ สังกัด นิธิทัศน์ โปรโมชั่น ในทันที

ระหว่างเข้ามาบันทีกเสียง งานอัลบั้มชุด อยู่หอ ของ ดิ อินโนเซ้นท์ ที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม ย่านดินแดง เป็นห้องบันทึกเสียงที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น และที่นี่ ทำให้เขาได้รู้จักกับ บุคคลากรทางดนตรีที่โด่งดังคนหนึ่ง ซึ่งเป็นตำนานต่อมาให้แก่วงการดนตรีสากลของเมืองไทย และมีอิทธิพลต่อชีวิตการเป็นนักดนตรีของโอม ชาตรี ซึ่งเป็นการรู้จักกันโดยบังเอิญที่ทำงานห้องบันทึกเสียงเดียวกัน แต่ต่างคนต่างทำงานของคนเอง คนละงาน เขาผู้นี้คือ เรวัต พุทธินันทน์

เข้าร่วมงานกับวงพลอย
ในขณะที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองกรุง นอกเหนือจากการทำงานเพลง และออกทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกับวง ดิ อินโนเซ็นท์แล้ว บางโอกาส วงก็ต้องมีงานเล่นประจำตามคลับ บาร์ กลางคืน และแม้กระทั่งบางโอกาสที่เป็นช่วงพักการออกอัลบั้ม เขาได้รับการชักชวนให้เป็นนักดนตรีสนับสนุนให้แก่ ศิลปินที่โด่งดังมากคนหนึ่งในยุคนั้นอย่าง ดนุพล แก้วกาญจน์ จนเมื่อพี่แจ้ ฟอร์มวงดนตรีขึ้นมาเพื่อร่วมทัวร์กับเขาอย่างจริงๆจังๆใช้ชื่อว่า วงพลอย ก็มีสมาชิก ตำแหน่งกีตาร์ ชื่อชาตรี คงสุวรรณ อยู่ด้วย เขาทำงานเป็นทั้งนักดนตรีสนับสนุนและนักแต่งเพลงให้งานเพลงของพี่แจ้อยู๋ประมาณ  2 ปี จนประมาณปี 2531 ด้วยงานที่ล้นมือ ทำให้เขาจึงต้องเลือกที่จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานมากกว่าการขึ้นไปยืนอยู่บนเวที ในฐานะศิลปินกลุ่มอีกต่อไป และนี่คือการเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองอีกครั้ง

ที่มาของภาพ
http://www.quamruq.com/diary/love-song-story/83
สู่อาชีพคนทำดนตรี
การที่ได้รับการชักชวนจากพี่เต๋อ ทำให้เกิดโอกาสที่ได้เข้าร่วมเป็นนักดนตรี มือกีตาร์ ในคอนเสิร์ตของพี่เต๋อ อันเป็นตำนานคอนเสิร์ตของเมืองไทยในเวลาต่อมา คือ คอนเสิร์ต “ปึ้ก” 19 ตุลาคม 2529

หลังจากนั้น เขาได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกันในทีมทำงานเดียวกันของพี่เต๋อ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นทีมทำงานดนตรีที่ทันสมัย และมีบุคลากรนักแต่งเพลง นักดนตรี รุ่นพี่ที่มีฝีมือ เป็นทำงานอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น พี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์, อัสนี โชติกุล, จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, ไพทูรย์ วาทยะกร, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา, เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, นิติพงษ์ ห่อนาค ฯลฯ ภายใต้ชายคาของ แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ โดยเริ่มทำงานในฐานะนักดนตรี (กีตาร์) ห้องบันทึกเสียง ผลงานเสียงกีตาร์ในเพลงในยุคแรกๆของแกรมมี่ จึงเป็นฝีมือของโอมเป็นส่วนใหญ่ หลายร้อยเพลง นอกจากการเป็นนักดนตรีในห้องอัดเสียงแล้ว โอมยังได้โอกาส แต่งเพลง แต่งทำนองเพลง และ ผลิตงาน (Produce) ให้กับศิลปินต่างๆในสังกัดแกรมมี่ โดยเริ่มผลิตงาน เต็มตัว

ปี 2533 งานชิ้นแรกในฐานะ Producer ก็ออกเผยแพร่ เป็นของศิลปิน คริสติน่า อากีล่าร์ นักร้องสาวลูกครึ่ง ฟิลิปปินส์ – ฝรั่งเศส สัญชาติไทย ที่เพิ่งเข้าวงการเป็นครั้งแรก ใช้ชื่ออัลบั้มว่า “นินจา” ซึ่งถือว่า ประสพความสำเร็จ ได้รับการตอบรับจากแฟนเพลง อย่างล้นหลาม มียอดขายเทปเกินล้านตลับ มีเพลงฮิตในอัลบั้มมากมาย จนทำให้ต่อมาเขาได้โอกาสทำงานให้กับศิลปินอีกหลายคน Ynot7 ,อินคา, อำพล ลำพูน, ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล หรือแม้กระทั่ง การรวมตัวกันเฉพาะกิจของ แอม-ดา (เสาวลักษณ์ ลีละบุตร-ศักดา พัทธสีมา) งานทั้งหมดของศิลปินเหล่านี้ ผลิตออกมาโดยทีมงานผลิตที่มีคุณภาพ และได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง

งานบริหารค่ายเพลง
ภายหลังจากพี่เต๋อ เสียชีวิตลง เมื่อปี 2539 สิ่งที่ตามมาคือก่อให้เกิดสภาวะขาดแคลนผู้นำของกลุ่มคนทำงานเพลง เมื่อรวมเข้ากับความอิ่มตัวในหน้าที่การงานที่ทำอยู่ ทำให้ โอม ชาตรี คิดที่จะขยับขยายการทำงาน มาเป็นผู้บริหารค่ายเพลงอย่างเต็มตัว ประกอบกับการปรับปรุงโครงสร้างภายในของแกรมมี่ ที่แตกเป็นบริษัทย่อยต่างๆ มากมาย เพื่อเติบโตตามความสามารถและความถนัดของบุคลากรหลักที่เคยมีอยู่

ลังจาก งานคอนเสิร์ต จากเพื่อน พี่ และ น้อง แด่ เรวัติ พุทธินันทน์ ( Tribute to Rewat Buddhinan Concert) ที่เขารับหน้าที่ Music Director อันเป็นหน้าที่ที่เขาภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสทำงานให้พี่ชายที่เขารักและเคารพจบลง จึงได้เกิดค่ายย่อยภายใต้ชื่อ RPG Records ขึ้นในปี 2541 โดยมี โอม ชาตรี เป็นผู้บริหาร RPG ย่อมาจาก Rewat”s Producer Group ซึ่งในความหมายก็คือการรวมตัวกันทำงานของ ทีมProducerที่เคยร่วมทำงานกับพี่เต๋อมาก่อน เป็นการตั้งชื่อเพื่อระลึกถึงและเป็นกำลังใจในทำงาน ซึ่งในยุคเริ่ม RPG มีบุคลากรที่ทำงานเพลงหลัก ได้แก่ สมชัย ขำเลิศกุล, ชุมพล สุปัญโญ,อภิชัย เย็นพูนสุข,โสฬส ปุณกะบุตร, พงษ์พรหม สนิทวงศ์ฯ, รุ่งโรจน์ ผลหว้า,ธานัท ธัญญหาญ วรวิทย์ พิกุลทอง, อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ ,กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา เป็นต้น

แม้ว่าจะทำงานในฐานะผู้บริหารค่ายเพลง แต่เขาก็ไม่อาจหลุดพ้นจากการผลิตงานดนตรีได้ เพียงแต่เขาขยับไปทำหน้าที่ Executive Producer ซึ่งมีหน้าที่กำหนดแนวทางของดนตรีและ เพลงแต่ละเพลงที่ผลิตออกมา โดยให้ Producer เป็นผู้รับไปดำเนินการต่อจนสำเร็จ ศิลปินที่อยู่ในสังกัด RPG เริ่มด้วยการเปิดตัวศิลปิน Rock Dance ชื่อ มิสเตอร์ทีมที่มีเพลงดังเป็นที่นิยมมากมายในอัลบั้ม และตามมาด้วยศิลปินต่างๆอีกหลายคน Double U, Peter Corp Dyrendal ,คริสติน่า อากีล่าร์, ธีรภัทร์ สัจจกุล, Ynot7, ศักดา พัทธสีมา,ปาล์มมี่ และ วงPURE ซึ่งศิลปินแต่ละคน มีทั้งประสพความสำเร็จอย่างมาก และน้อย คละกันไป ท่ามกลางตลาดเพลงที่เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงไปตามเทคโนโลยี่

ตลาดไฟล์เพลง MP3 ที่เติบโต มากกว่างาน CD ต้นแบบ รวมถึงการมาของ CD Writer และ เครื่องเล่น MP3 ที่ทำไห้ไม่ต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์ก็สามารถฟังไฟล์เพลงได้ ทำให้งานเพลงในรูปแบบของ MP3 ยิ่งเติบโตแบบยั้งไม่อยู่ ในขณะที่อัลบั้มที่เป็นงานเพลงที่วางขายอยู่กลับได้รับความสนใจจากผู้บริโภคไม่มาก และตั้งแต่ ปี 2542 เป็นต้นมา การที่จะทำให้งานเพลงของศิลปินใดผลิตออกมาด้วยความสำเร็จ เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญกว่าเก่าหลายเท่านัก

ที่มาของภาพ
http://www.jaranmanopetch.com/board/584
กระแสการเปลี่ยนแปลง
การเน้นงานคุณภาพงานทางด้านดนตรีของเขา ยังคงเป็นบุคลิกติดตัวอยู่กับเขาตลอดมาไม่ว่าเขาจะทำงานที่ใด จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นที่รู้กันดีว่า งานใดที่ออกมาจากค่ายเพลงของเขา จะเป็นงานที่เน้นเนื้อหาความเข้มข้นของดนตรีมากกว่าสิ่งอื่นใด ทำให้เขาได้รับการกล่าวขวัญจากคนดนตรีด้วยกันว่า มีแนวทางของตนเองที่ชัดเจนมาตลอด แม้ว่าบางครั้ง การทำงานจะขัดกับแนวทางการตลาดบ้างก็ตาม

แต่นั่นเอง การทำงานท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด รวมถึงบรรยากาศเก่าๆ เป็นสาเหตุให้เกิดความอิ่มตัวมาถึงเร็วกว่าที่คิด ทำให้การสร้างสรรค์งานเริ่มมีอุปสรรค เขาจึงหาทางขยับขยายเพื่อ ปลดปล่อยตัวเองอีกครั้ง เพื่อมาทำงานในค่ายเพลงใหม่ ภายใต้ชี่อ คราฟท์แมน เรคคอร์ดส์ (Craftsman Records) ซึ่งเป็นค่ายเพลงอิสระที่ตั้งขึ้นมากับเพื่อนๆ Producer ที่เคยทำงานด้วยกัน แต่อยู่นอกชายคาต้นสังกัดเดิม ตั้งแต่ปีกลางปี 2547

ศิลปินในสังกัดส่วนใหญ่จะผลิตงานเอง ทั้งที่เคยร่วมงานกันมาก่อน และ เข้ามาใหม่ อาทิ เช่น GR9, 2Peace, Big & The Superband, 4Gotten, Jugg Big และ Jida งานของศิลปินเหล่านี้ ได้รับการตอบรับว่า เป็นงานที่มีคุณภาพ แต่ด้วยความเป็นค่าย Indy การขาดแคลนแหลายๆสิ่งที่เคยมีอยู่ในองค์กรใหญ่ๆ ทำให้งานเพลงไม่ได้รับการเผยแพร่เท่าที่ควร แม้ว่าในภายหลังศิลปินในสังกัดเกือบทุกราย จะได้รับรางวัลในการทำงาน เป็นกำลังใจในผลงานด้านต่างๆ จากสถาบันต่างๆ หลายรางวัลก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการตลาดในทางที่ดีนัก โดยเฉพาะในครั้งนี้เขาทำงานบริหารอยู่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของตลาดเพลงของโลกที่รุนแรงยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น
  • การยอมรับไฟล์เพลงที่ครั้งหนึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่าง MP3มาเป็นเรื่องถูกกฎหมายของผู้ฟัง
  • การเกิดใหม่ของแหล่งเผยแพร่ของสื่อเพลงชนิดใหม่เช่น สื่อ Digital หรือแม้กระทั่ง
  • การเปลี่ยนแปลง จากการทำดนตรีเป็นอัลบั้มออกจำหน่ายมาเป็นตัดเพียงเพลงบางเพลงออกจำหน่ายในรูปแบบDigitalผ่านไปสู่ผู้ฟังจากสื่อโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต
เหล่านี้ คือการเปลี่ยนแปลงของตลาดเพลงทั่วโลกที่เกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เผู้ที่อยู่ในวงการดนตรีทั้งหมด ต้องหาทางปรับตัว ปรับปรุงวิธีการทำงาน จนกระทั่งเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพื่อหาโอกาสหยิบยื่นงานของตนเองต่อผู้ฟัง แต่สำหรับโอม ชาตรี เขาเลือกที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ แต่รักษาคุณภาพงานเดิมไว้ ออกมายืนหน้าเวที หยุดทำงานเบื้องหลัง และ ออกมาเป็นศิลปินเดี่ยว ในฐานะนักดนตรี นักร้อง ทำงานของตนเอง ในนามของตนเองเป็นครั้งแรก ในเวลาเกือบ 30 ปี ของชีวิตคนดนตรี

ศิลปินเดี่ยว
เป็นสถานะปัจจุบันที่เพิ่มเข้ามา เขาเริ่มโดยการนำทำนองเพลงที่แต่งเก็บไว้มากกว่า 200 เพลงออกมาใช้ เริ่มด้วยการเรียบเรียงเพลง Friends ขึ้นมาเป็นเพลงบรรเลง ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรที่สนับสนุนงานดนตรีดีๆ มาตลอดอย่าง สิงห์คอร์ปอเรชั่น(บุญรอดฯ) ได้นำเพลงดังกล่าว ไปร่วมกิจกรรม สิงห์กีตาร์ตามหาสิงห์เนื้อร้อง โดยประกวดการแต่งเนื้อร้องให้แก่เพลง Friends จนได้งานเพลงที่ชนะเลิศปิดโครงการไปในเดือน พฤศจิกายน 2550 และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการประกาศเป็นศิลปินเดี่ยว ต่อสาธารณชนอีกครั้ง

หลังจากนั้น ในปลายปี 2550 หลังจากซุ่มทำเพลงจนเสร็จเรียบร้อย ด้วยแรงสนับสนุนของ TRUE Corp และ ผลิตภัณฑ์สิงห์(บุญรอดฯ) ทำให้เขาผลิตงานอัลบั้มของตัวเอง ภายใต้สังกัดใหม่ที่ชื่อ Mister Music ที่เป็นบริษัทของเขาเอง ผลิตงานเพลงโดยมีเขาเป็นศิลปิน OHM CHATREE KONGSUWAN งานเพลงอัลบั้มแรก ออกเผยแพร่เต็มอัลบั้มครั้งแรก เมื่อเดือน มกราคม 2551 ชื่ออัลบั้ม Into The Light อันเป็นงาน ที่บ่งบอกตัวตนทางดนตรีของเขาอย่างชัดเจน ทั้งแนวทางดนตรี Rock ที่หลากหลายทั้งเพลงที่มีเนื้อร้อง บรรเลง และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เพลงในอัลบั้ม Into The Light ได้แก่ ลูกผู้ชายไม่หวั่นไหว,Into The Light, รักกันตลอดไป, จะอะไรนักหนา, เรื่องเล่าจากสายน้ำ, เขาไม่เปลี่ยน, Song for RW สิ่งดีๆจะกลับมา - Instrumental, อย่าทำใจหาย, Brave & Crazy – Instrumental, ทุกคนสำคัญ,Friends – Instrumental (Bonus Track)

งานในอัลบั้มนี้ โอม ชาตรี เป็นผู้ลงมือทำเอง เกือบทั้งหมดในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ แต่งทำนอง เนื้อร้อง(บางเพลง) เล่นดนตรี เกือบทุกชิ้น กีตาร์ กลอง คีย์บอร์ด ร้องและคุมร้องเอง บันทึกเสียง ควบคุมการผลิต รวมทั้งการทำ Mastering จนเสร็จ โดยมีแขกรับเชิญเข้ามาร่วมงานดังนี้ 
  • อนุสาร คุณะดิลก(เม๋)พี่ เพื่อน และคู่คิดทางด้านงานดนตรี ช่วยบันทึกเสียง Bass
  • ครูบี,ครูฟ้าใส แห่ง Academy Fantasia เสียงประสานในเพลง เรื่องเล่าจากสายน้ำ
  • จั๊ก ชวิน บันทึกเสียง Acoustic Guitar เพลง Friends
  • มุรธา ร่วมรักษ์ บันทึกเสียงกลอง ในเพลง Friends และ ลูกผู้ชายไม่หวั่นไหว
  • วีระนนท์ นวชานน ประสานงานในการประพันธ์เนื้อร้องในงานทั้งอัลบั้ม
ชื่ออัลบั้ม Into The Light ได้แนวคิดมาจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานของเขา จากคนอยู่เบื้องหลังศิลปิน เหมือนคนที่เคยอยู่ในเงามืด มีสิ่งที่เป็นแสงสว่างที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้า จนถึงเวลาที่ตัดสินใจออกไปสู่แสงสว่างที่สาดส่องเข้ามา เหมือนศิลปินบนเวทีที่มีแสงไฟจ้องจับอยู่ ซึ่งในเพลงนี้ เขาได้ บอยด์ โกสิยพงษ์ เพื่อนรุ่นน้องที่เป็นนักแต่งเนื้อเพลงคนดังแห่งยุคนี้ ที่รู้จักกันมาหลายปีก่อนหน้านั้น แต่งเนื้อร้องให้

รางวัลที่ได้รับ
พ.ศ.2538 - ได้รับรางวัล Producer ยอดเยี่ยม จากผลงานเพลงอัลบั้มแรกของวง “ Y not 7 ” จาก สไมล์ทีวี (ไทยสกายเคเบิลทีวี)
พ.ศ.2552 ได้รับรางวัลดังต่อไปนี้
  • รางวัล สีสันอวอร์ด ครั้งที่ 21 โดยพิจารณาผลงานที่ออกเผยแพร่ในปี 2551 รวม 3 รางวัล
    • 1.เพลงบรรเลงยอดเยี่ยม จาก เพลง Song For RW สิ่งดีๆจะกลับมา อัลบั้ม Into The Light
    • 2.อัลบั้มยอดเยี่ยม Into The Light
    • 3.ศิลปินชายเดียวยอดเยี่ยม จาก อัลบั้ม Into The Light
  • รางวัล Lifetime Achievement จาก FAT AWARDS ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดโดย FAT RADIO FM 104.5
พ.ศ. 2553 ได้รับรางวัล
  • รางวัล Lifetime Achievement HAMBURGER AWARDS ครั้งที่ 7 จากนิตยสาร HAMBURGER vol. 8 no. 141 March 2010
การร่วมงานคอนเสิร์ตและกิจกรรมดนตรี
  • 19 ตุลาคม 2529 เป็นครั้งแรกที่ โอม ชาตรี ได้เข้าร่วมคอนเสิร์ตใหญ่ในฐานะนักกีตาร์นำ และเป็นตำนานต่อมา คอนเสิร์ต ปึ๊ก ของพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ที่อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก
  • 5 กันยายน 2541 ร่วมคอนเสิร์ต จากเพื่อน พี่ และน้อง แด่ เรวัต พุทธินันทน์ ที่ห้อง Plenary Hall ศูนย์ประชุมแห่งชาติ สิริกิตติ์ ในฐานะที่เป็น Music Directorและเป็นมือกีตาร์หลักในช่วง RPG Session ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เป็นการรวมนักดนตรีที่เป็นคนทำงานProducer ร่วมกับพี่เต๋อมาก่อน
  • มิถุนายน – กันยายน ปี 2550 เข้าร่วมงานกับ TRUE VISION ทำงานในฐานะ Music Director เป็นผู้กับกับดนตรีในคอนเสิร์ตแสดงผลงานของ Academy Fantasia Season 4 รายการ Reality Show ที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยอย่างสูงสุด ซึ่งแสดงคอนเสิร์ต ที่ ธันเดอร์โดม และ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี และ ครั้งสุดท้ายของโครงการที่ อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก รวม 13 ครั้ง
  • เมษายน – กรกฎาคม ปี 2551 ร่วมกับ TRUE VISION ทำงานในฐานะ Music Director เป็นผู้กับกับดนตรีในคอนเสิร์ตแสดงผลงานของ Academy Fantasia Season 5 ซึ่งแสดงคอนเสิร์ต ที่ ธันเดอร์โดม และ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี รวม 12 ครั้ง
  • 28 พฤษภาคม 2551 มีคอนเสิร์ตของตนเองในฐานะศิลปินเดี่ยวเป็นครั้งแรก Ohm Chatree Kongsuwan & Friends : Live! Into The Light ที Royal Paragon Hall สยามพารากอน โดยมีแขกรับเชิญซีงเป็นเพื่อนที่เคยร่วมงานในต่างฐานะมากมาย อาทิเช่น โอ้ โอฬาร พรหมใจ/ป๊อบ เดอะซัน/ Black Head / อินคา /ตุ้ย ธีรภัทร์/ ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล/ โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ /พะแพง AF4 /บิ๊ก ธานัท / จั๊ก ชวิน / หนึ่ง จักรวาร / ดั๊ก Infinity/ปราชญ์ อรุณรังสี ฯลฯ
  • 13 กันยายน 2551 ร่วมงานคอนเสิร์ต ในฐานะศิลปินรับเชิญ คอนเสิร์ตแด่คนช่างฝัน จรัล มโนเพ็ชร (Tribute To Jaran Manopetch) ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • 4 ตุลาคม 2551 ร่วมงานในฐานะแจกรับเชิญ คอนเสิร์ต Etc : Bring It Back ที่ อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก
  • กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2552 รับหน้าที่เป็น Executive Music Director ให้กับโครงการ The Master ของ True Visionเป็นการจำลองบริษัทผลิตเพลง โดยนำเอาสมาชิกที่ประสพความสำเร็จในโครงการ Academy Fantasia มาร่วมกันสร้างงาน แต่งเพลง สร้างรูปแบบโชว์ แสดงคอนเสิร์ต ทุกวันเสาร์ รวม 4 สัปดาห์ ที่ ธันเดอร์โดม และ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี เป็นครั้งแรกที่รูปแบบของรายการได้เปิดเผยถึงเบื้องหลังการทำงานเพลงอย่างละเอียดเกือบทุกขั้นตอน เป็นทั้งการให้ทั้งความรู้และความบันเทิงในลักษณะ Reality Show ที่สมบูรณ์
  • 4 กรกฎาคม 2552 - 19 กันยายน 2552 ร่วมงานกับ True Visions ในฐานะ Executive Music Production ให้กับ TRUE ACADEMY FANTASIA Season 6 โดยทำหน้าที่ควบคุมทีม Mister Music ที่เป็นทีมงานด้านดนตรีทั้งหมดในงาน AF6
  • 10 ตุลาคม 2552 โอม ชาตรี คงสุวรรณ และเพื่อนสมาชิกหลักของ The Innocent พีรสันติ จวบสมัย,สายชล ระดมกิจ และ เสนีย์ ฉัตรวิชัย ร่วมกับ สิงห์คอร์ปอเรชั่น, S2 Organizer และ I-Works Entertainment จัดคอนเสิร์ตใหญ่โดยใช้ชื่อว่า The Innocent Concert ที่ Impact Arena เมืองทองธานี ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเต็มรูปแบบ มีแขกรับเชิญมาร่วมแสดง อาทิ [[เศรษฐา ศิระฉายา]],บอยด์ โกสิยพงษ์, ป๊อด โมเดิร์นด๊อก ,บอย ตรัย ภูมิรัตน์, นภ พรชำนิ,วงลิปตา,วง The Begins แหม่มและปุ้ม แห่งวง สาว สาว สาว, จิ๊บ วสุ แสงสิงแก้ว, เหม วงพลอย,รักษ์ วงพลอย, ต้น แมคอินทอช,โต๋ ศักดิ์สิทธิ,หนึ่ง จักรวาร,โก้ แซ็กแมน,วง ETC และสิทธิศักดิ์ กิจเต่ง สมาชิกก่อตั้งของวง ดิอินโนเซ้น่ท์ โดย โอม ชาตรี ทำหน้าที่เป็นทั้ง Show Director และ Music Director การจัดโชว์ครั้งนี้ มีการเตรียมตัวและทำงานร่วมกันเป็นทีมตั้งแต่ เดือน พฤษภาคม 2552 เป็นต้นมา และในภาคดนตรี มีการซ้อมกันอย่างหนักต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังจากงานดังกล่าว เป็นที่กล่าวขานจากผู้ที่ได้เข้าชมว่า เป็นคอนเสิร์ต ที่จัดได้อย่าง สนุกสนาน มีสคริปเพลงที่ลงตัว และ โปรดักชั่นของคอนเสิร์ตที่สมบูรณ์แบบ โดยในการแสดงดังกล่าว มีเพลงที่นำมาแสดง ประมาณ 30 เพลง ใช้เวลาในการแสดง 3 ชั่วโมงเต็ม
  • 3 กรกฏาคม ถึง 18 กันยายน 2553 ร่วมงานกับ True Corporation รับหน้าที่ เป็น Music Director และ ที่ปรึกษาด้านกิจกรรมดนตรี ในงาน ACADEMY FANTASIA Season 7
นอกจากนั้น ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โอม ชาตรี ได้ร่วมงานกับ นิตยสาร Overdrive หรือ Prart Music Group เป็นผู้เผยแพร่ข้อเขียนอันเป็นประสบการณ์ของเขาทางด้านการทำงานดนตรี เน้นไปทางงานกีตาร์ ลงในหนังสือ Overdrive เป็นระยะๆ และ ยังได้ร่วมกิจกรรมขึ้นเวที Guitar Workshop และ Mini Concert ให้ความรู้เทคนิค และสาธิตการเล่นกีตาร์รูปแบบต่างๆ ร่วมกับมือกีตาร์ชั้นนำ เช่น โอฬาร พรหมใจ, Pop The Sun, ปราชญ์ อรุณรังสี ตามสถานที่และสถาบันในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆในประเทศ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี หาดใหญ่ ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำตามโอกาสและเวลาจะอำนวย


ผลงานสร้างชื่อในฐานะนักแต่งเพลง
  • เรวัต พุทธินันทน์  เพลงอย่างน้อยก็คิดดี, สามหนุ่ม สามมุม, ตะกายดาว, คน ค้น คน, สักวันต้องได้ดี
  • ดนุพล แก้วกาญจน์ เพลงนิดนึงพอ, ของขวัญ
  • อัสนี-วสันต์ เพลงคงเดิม, ทุกข์ไม่เว้นวันราชการ, แทนคำนั้น, ลงเอย
  • ธงไชย แมคอินไตย์ เพลงขอบใจจริงๆ, เราจะยิ้มให้กัน, จับมือกันไว้, หมอกหรือควัน, คู่กัด, เหมือนเป็นคนอื่น, พริกขี้หนู, เหนื่อยไหม, สัญญาต้องเป็นสัญญา, ใจเย็นๆ
  • นูโว  เพลงของมันได้อยู่เลย, สัญชาตญาณบอก, สุดสุด...ไปเลย, ตกลงจะซื้อมั้ย, ทนทนเอาหน่อย
  • นันทิดา แก้วบัวสาย  เพลงไม่ต้องการเห็นบางคน (ที่ไม่รักกัน), แค่ใบไม้ร่วง
  • ตั้ม สมประสงค์  เพลงทนได้ทุกที, ที่เก่าที่ฉันยืน
  • บิลลี่ โอแกน  เพลงเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม
  • ไมโคร  เพลงเอาไปเลย, ส้มหล่น, ยังไงก็โดน
  • ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เพลงทำใจลำบาก, ศิลปินเดี่ยว, ซ้ำเติม, เขตปลอดมนุษย์
  • ฐิติมา สุตสุนทร  เพลงของดีๆ, ใครจะเป็นรายต่อไป, อาจจะเป็นคนนี้
  • ใหม่ เจริญปุระ  เพลงสุดฤทธิ์สุดเดช, เรื่องมันจำเป็น, อ๋อเหรอ, อยากจะร้องไห้, ไม่ลืม
  • คริสติน่า อากีล่าร์ เพลงพลิกล็อก, ประวัติศาสตร์, ไปด้วยกันนะ, อยากให้รู้เหลือเกินว่าฉันเสียใจ, จับมัดไว้, อุ่นใจ
  • เจตริน วรรธนะสิน เพลงกองไว้, คาใจ, แววตา, เจ็บไปเจ็บมา, อยากให้รู้ว่าเหงา
  • อำพล ลำพูน  เพลงยังไงก็โดน, ขอไปกับสายลม
  • อินคา  เพลงหมากเกมนี้, หมดแล้วหมดเลย
  • UHT  เพลง UHT..นี่แหละเพื่อน
  • เสาวลักษณ์ ลีละบุตร เพลงแค่เสียใจไม่พอ
  • วิยะดา โกมารกุล ณ นคร เพลงเดียวดาย
  • Y not 7  เพลงทิ้งรักลงแม่น้ำ, รู้ไว้ซะ, เกลียดความสงสาร
  • สุนิตา ลีติกุล เพลงฉันจะจำเธอแบบนี้
  • ฟลาย  เพลงไม่ต้องบอก, บิน, เกลียด, คนขี้อิจฉา
  • แอม-ดา เพลงเย เย เยส, เพื่อเธอตลอดไป, ฉันยังเป็นของเธอ, ทางเดินแห่งรัก, เธอคือเพลง, อยู่ด้วยกันก่อน, ไม่เดือดร้อน
  • ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล เพลงชายคนหนึ่ง, จะรักกันนานเท่าไหร่, ให้ฟ้าผ่าเธอ, ฉันยังมีเธอ
  • มิสเตอร์ทีม เพลงเจ้าช่อมาลี
  • ปาล์มมี่ เพลงทบทวน, พื้นที่ส่วนตัว, Stay
  • จั๊ก ชวิน เพลงคนเดือดร้อน
  • ดับเบิ้ลยู เพลงฉันก็ไม่รู้ (เขาก็ไม่รู้)
  • ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ เพลงทรมาน, ฝันเลือนลาง, โลกแห่งความรัก

สัมภาษณ์ โอม ชาตรี คงสุวรรณ เกี่ยวกับคอนเสิร์ต
จากเพื่อน พี่ และ น้อง แด่ เรวัติ พุทธินันทน์
( Tribute to Rewat Buddhinan Concert)


ที่มาข้อมูล
วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี. ชาตรี คงสุวรรณ. (สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2553)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น