วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี มหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฺฐายี) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ.2508 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 7 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.2514 พระชนมายุ 74 พรรษา

พระประวัติ
พระองค์มีพระนามเดิมว่า จวน ประสูติเมื่อปี พ.ศ.2440 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อพระชนมายุได้ 10 พรรษา ได้เข้ามาศึกษาชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดคฤหบดี จังหวัดธนบุรี พระชนมายุ 14 พรรษา ได้ไปศึกษาอยู่กับพระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทัดโต) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม (วัดเขาวัง) ที่วัดเขาวัง จังหวัดเพชรบุรี พระชนมายุ 16 พรรษา ได้มาศึกษาพระปริยัติธรรม กับพระอริยมุนี (แจ่ม จตฺคสลฺโล) ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม
  • พ.ศ.2457 ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ได้เป็นบรรณาธิการ หนังสือวารสารรายปักษ์สยามวัด ทำให้พระองค์มีความสามารถในการประพันธ์คำประพันธ์ต่างๆ มีโคลง ฉันท์ เป็นต้น
  • พ.ศ.2460 ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุ ในปีเดียวกันนี้ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี และเปรียญธรรม 3 ประโยค
  • พ.ศ.2461 สอบได้นักธรรมชั้นโท
  • พ.ศ.2462,2464 และ 2465 สอบได้เปรียญธรรม 4,5 และ 6 ประโยค ตามลำดับ
  • พ.ศ.2466 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
  • พ.ศ.2467,2470 และ 2472 สอบได้เปรียญธรรม 7,8 และ 9 ประโยค ตามลำดับ
พระองค์ได้ประกอบพระกรณียกิจด้านการพระศาสนาเป็นอันมาก พอประมวลได้ดังนี้
  • พ.ศ.2476 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ พระกิตติสารมุนี
  • พ.ศ.2477 เป็นกรรมการคณะธรรมยุติ
  • พ.ศ.2478 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที เป็นประธานกรรมการบริหาร ในตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี
  • พ.ศ.2479 เป็นกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ฉบับใหม่
  • พ.ศ.2482 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
  • พ.ศ.2485 เป็นสมาชิกสังฆสภา และเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่
  • พ.ศ.2486 เป็นผู้รักษาการ ในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาส
  • พ.ศ.2488 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์
  • พ.ศ.2489 เป็นผู้สั่งการในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ฯ
  • พ.ศ.2490 เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระศาสนโศภณ
  • พ.ศ.2494 เป็นสังฆนายก ครั้งที่ 1
  • พ.ศ.2499 ได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
  • พ.ศ.2503 เป็นสังฆนายก ครั้งที่ 2
  • พ.ศ.2505 เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช
  • พ.ศ.2506 เป็นกรรมการเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพัดยศและเครื่องสมณศักดิ์แด่สมเด็จฯ
ในงานพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสงฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2508 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อจาก สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)

พระกรณียกิจด้านต่างๆ

ด้านการศึกษา ทรงชำนาญในอักษรขอม อักษรพม่า อักษรมอญ และอักษรโรมัญ จากการที่ได้ ตรวจชำระ พระไตรปิฎกบางปกรณ์ตามที่ได้รับมอบ ซึ่งจะต้องสอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม เกี่ยวกับอักษรพม่า และอักษรโรมัน
  • พ.ศ.2470 เป็นกรรมการตรวจบาลีไวยากรณ์ในสนามหลวง
  • พ.ศ.2471 เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโท-เอกในสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจบาลี ประโยค 4-5-6
  • พ.ศ.2476 เป็นปีที่เริ่มฟื้นฟูกิจการของมหามงกุฏราชวิทยาลัยในยุคใหม่ ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการและอนุกรรมการหลายคณะ คือ อนุกรรมการตรวจชำระแบบเรียน เช่น นวโกวาท และ พุทธศาสนสุภาษิต กรรมการอำนวยการหนังสือธรรมจักษุ กรรมการ อุปนายกและนายกกรรมการมหามงกุฏราชวิทยาลัย ตลอดมาจนสิ้นพระชนม์
ด้านการต่างประเทศ เสด็จไปดูการพระศาสนาในประเทศลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เนปาล ลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ตามคำเชิญของพุทธบริษัทของประเทศนั้นๆ ทรงไปร่วมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช (วัดเบญจมบพิตร) ไปร่วมประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกที่ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ.2504


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
งานเผยแผ่พระศาสนา ได้ทรงดำเนินการมาโดยตลอดไปรูปแบบต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้
  • พ.ศ.2476 ทรงร่วมกับคณะมิตรสหาย ตั้งสมาคมพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก คือ พุทธสมาคม เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา และส่งเสริมการศึกษา
  • พ.ศ.2477 เป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา (ธรรมกถึก)
  • พ.ศ.2479 เป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฎก
  • พ.ศ.2497 เป็นประธานกรรมการจัดรายการแสดงธรรมทางวิทยุในวันธรรมสวนะ
งานพระนิพนธ์
  • พ.ศ.2469 ทรงแปลตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย เพื่อใช้เป็นตำรา
  • พ.ศ.2482 ทรงแต่ง รตนตฺตยปฺปภาวสิทฺธิคาถา แทน รตนตฺตยปฺปภาวาภิยาจนคาถา และได้ใช้สวดในพระราชพิธีต่อมา
  • ยังมีพระนิพนธ์อีกมากกว่า 100 เรื่อง เช่น มงคลในพุทธศาสนา สาระในตัวคน วิธีต่ออายุให้ยืน การทำใจให้สดชื่นผ่องใส และฉันไม่โกรธเป็นต้น
  • มีพระธรรมเทศนาอีกหลายร้อยเรื่อง ที่สำคัญคือ มงคลวิเศษคาถา ที่แสดงในพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษา
พระอวสานกาล
โดยปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระพลานมัยดีตลอดมา ไม่ประชวรถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ แต่มีพยาธิเบียดเบียนเป็นครั้งคราว ต้องเสด็จไปรับการผ่าตัดในโรงพยาบาล 2-3 ครั้ง คือ ผ่าตัดไส้เลื่อน 1 ครั้ง ผ่าตัดโพรงจมูกครั้ง 1 ผ่าตัดกระเพาะ เพื่อตรวจดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่อีกครั้ง 1 ภายหลังการผ่าตัดครั้งสุดท้าย ก็ปรากฏว่าพระสุขภาพเป็นปกติ แต่ทรงรับสั่งว่า รู้สึกว่าความจำเลือนไปบ้าง และทรงปรารภว่า “ไม่รู้ว่าทำกรรมอะไรไว้ จึงถูกผ่าตัดอย่างนี้”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร) สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ เพราะถูกรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กส่วนบุคคล ขับสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถยนต์พระประเทียบ ณ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2514 เวลา 10.05 น.

ที่มา
ห้องสมุดออนไลน์ My First Info. ข้อมูลจังหวัด : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี มหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ . [Online]. Available :
https://province.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsID=60336&keyword=ราชบุรี. [2553 ตุลาคม 29 ].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น