วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

นายอุดม สมพร..บุคคลดีเด่นของชาติ


นายอุดม สมพร เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2485 ที่บ้านเลขที่ 46 บ้านไร่ต้นมะม่วง(หมู่ 13 เดิม) ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นบุตรนายเนียมและนางชวา สมพร สมรสกับ น.ส.มะลิ เอื้อนอาจ มีบุตรสาว จำนวน 2 คน
ในด้านการศึกษา ท่านเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนแคทราย ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี ในปี พ.ศ.2494 เข้ารับการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ อ.เมืองราชบุรี ในปี พ.ศ.2498 เข้ารับการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี ในปี พ.ศ.2506 เข้ารับการศึกษาระดับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2515 และเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2518
ผลงานที่ท่านได้สร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทยมีมากมายหลายประการด้วยกันที่สำคัญ ได้แก่
  • เป็นผู้ดำเนินการโครงการสร้างศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจกราชบุรีขึ้นที่บริเวณวัดแคทราย ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 โดยใช้เป็นสถานที่ฝึกหัดทอผ้าจกและศูนย์วิชาการเกี่ยวกับผ้าจก ตลอดจนเป็นสถานที่สำหรับศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาด้านศิลปหัตถกรรมเกี่ยวกับผ้าจก ที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของชาวไทยวนใน จ.ราชบุรี
  • เป็นผู้ร่วมจัดตั้งศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี ขึ้น จำนวน 3 แห่ง คือ ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี หน่วยที่ 1 วัดคูบัว ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี หน่วยที่ 2 วัดนาหนอง ต.ดอนแร่ อ.เมืองราชบุรี ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี หน่วยที่ 3 วัดรางบัว ต.รางบัว อ.จอมบึง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ฝึกหัดทอผ้าจก และจำหน่ายศิลปหัตถกรรมเกี่ยวกับผ้าจกให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป
  • เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมฟื้นฟูศิลปผ้าจกไทยวนราชบุรี ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งใน จ.ราชบุรีและจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน
  • เป็นผู้จัดทำหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ.2538 ประเภทวิชาศิลป สาขาศิลปหัตถกรรม ให้แก่กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นให้แก่วิทยาลัยสารพัดช่างราชบุรี
  • เป็นผู้จัดทำสื่อการเรียนการสอนการฝึกหัดทอผ้าจกด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (HAND-HI-TECH) ให้แก่นักเรียนทอผ้าระบบทวิภาคี
  • เป็นผู้จัดตั้งกลุ่มผู้สนใจวิชาชีพทอผ้าจกเพื่ออนุรักษ์ศิลปผ้าจกและพัฒนาอาชีพเสริมให้แก่ประชาชนใน จ.ราชบุรี
  • เป็นผู้สร้างกี่ทอผ้าพุ่งกระสวยด้วยมือที่ใหญ่ที่สุดในโลกไว้ในศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจกราชบุรี
  • เป็นผู้จัดให้มีการทอผ้าจกรวมลายใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อมอบให้จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
  • เป็นผู้จัดให้มีการทอผ้าจกรวมลาย "จกภูษา กาญจนาภิเษก" เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระยาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสครองราชย์เป็นปีที่ 50 พ.ศ.2539
เกียรติคุณและรางวัลที่ท่านได้รับเกี่ยวกับงานด้านการอนุรักษ์มรดกไทย ที่สำคัญ ได้แก่
  • ในปี พ.ศ.2529 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของชมรมราชบุรีสมุนไพรในโครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพรในโครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร
  • ในปี พ.ศ.2533 ได้รับประกาศนียบัตรขอบคุณในฐานะผู้มีอุปการะคุณจากสถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับรางวัลพระราชทานที่ 1 ประเภทผ้าไหมลายพื้นบ้าน ในการประกวดที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
  • ในปี พ.ศ.2534 ได้รับประกาศเกียรรติคุณจากกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมของชาวไทยยวนราชบุรี
  • ในปี พ.ศ.2536 ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดผ้าซิ่นตีนจก จากคณะกรรมการจัดงานวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จ.ราชบุรี ได้รับประกาศเกียรติคุณ ยกย่องเป็นนักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นระดับชาติ ประจำปี พ.ศ.2536 จากคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ในฐานะผู้มีผลงานการสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกไทย และได้รับพระราชทานรางวัลดีเด่นในการประกวดผ้าประเภทที่ 1 ผ้าโบราณ และรางวัลชมเชยในการประกวดผ้าประเภทที่ 2 ผ้าตีนจก จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 12 สิงหาคม 2536
  • ในปี พ.ศ.2537 ได้รับเกียรติบัตรจากกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะครูอาจารย์ผู้ปฏฺบัติหน้าที่เพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยให้แก่เยาวชนในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ให้แก่องค์การช่างเทคนิคในอนาคตแห่งประเทศไทย
  • ในปี พ.ศ.2541 ได้รับการประกาศเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาล สาขาศฺลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับผ้าเป็นบุคคลแรกของสาขา ทะเบียนเลขที่ 31/2541 และได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ ประจำปี 2541 สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิคนไทย ด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 และได้เข้ารับโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2543
เกียรติประวัติของท่าน ดร.อุดม สมพร ยังมีอีกขณะนี้ ผู้จัดทำกำลังรวบรวมเพิ่มเติมอยู่
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑ์สถานแห่วชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 258-259)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น