วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระโอรสในสมเด็จพระปฐมบรมราชชนกที่ทรงมีพระนามว่าเดิมว่า ทองดี และต่อมาได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น พระอักษรสุนทร ตำแหน่งเสมียนตราในสำนักราชเลขานุการ และพระอัครชายาที่ทรงมีพระนามว่า หยก
พระนามเดิมว่า ด้วงหรือทองด้วง ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน 4 แรม 9 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2279 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จผ่านพิภพปราบดาภิเษกเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี เมื่อปีขาล พ.ศ.2325 เมื่อพระชนมายุได้ 46 พรรษา ดำรงสิริราชสมบัติอยู่ 28 พรรษา สวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 13 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.2342 รวมพระชนมายุได้ 73 พรรษา
พระองค์ทรงมีความผูกพันเกี่ยวข้องกับเมืองราชบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ตำแหน่งอัยการจังหวัดในปัจจุบัน) ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศหรือสมเด็จพระเจ้าสุริยาศน์อมรินทร์แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ.2301-2310) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่เด่นชัดเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญไว้
ต่อมาในสมัยที่พระองค์รับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรี ก็ปรากฏหลักฐานถึงความสัมพันธ์ของพระองค์กับเมืองราชบุรีอีกครั้งหนึ่ง
โดยในปีมะเมีย พ.ศ.2319 ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพร่วมกับสมเด็จพระอนุชาธิราช (กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ช่วยกันรบพม่าจนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดที่สมรภูมิบ้านนางแก้ว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ครั้งต่อมาเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ทรงเป็นจอมทัพบัญชาการรบร่วมกับสมเด็จพระอนุชาธิราช (กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท) จนกองทัพพม่าของพระเจ้าปดุงต้องแตกพ่ายและเสียชีพไปเป็นจำนวนมากในคราวสงครามเก้าทัพที่สมรภูมิทุ่งเขางู อ.เมือง จ.ราชบุรี ในปี พ.ศ.2328
และต่อมาในปี พ.ศ.2347 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช และม่ทัพนายกองไทยลาว ยกทัพไปปราบพม่าที่เมืองเชียงแสน (อ.เชียงแสน จ.เชียงรายในปัจจุบัน) แล้วกวาดต้อนผู้คนชาวลาวโยนกเชียงแสน (ไทยยวน) ให้ลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยส่วนหนึ่งอยู่ที่เมืองราชบุรี บริเวณบ้านไร่นที (ตั้งอยู่ในท้องที่ อ.เมืองราชบุรี ในปัจจุบัน) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกลุ่มเชื้อชาติพันธุ์ที่สำคัญเชื้อชาติหนึ่งของ จ.ราชบุรี
ด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อชาวราชบุรี ประชาชนชาวจังหวัดราชบุรี จึงได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านไว้ ณ บริเวณเชิงเขาแก่นจันทน์ อ.เมือง ราชบุรี
ที่มา :
-มโน กลีบทอง.(2544 ). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. หน้า 254.
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

นายผี อัศนี พลจันทร


คุณอัศนี พลจันทร เกิดวันที่ 15 ก.ย. พ.ศ.2460 ที่บ้านท่าเสา ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี บิดา คือ พระมนูกิจวิมลอรรถ(เจียร พลจันทร) มารดา คือ นางมนูกิจวิมลอรรถ (สอิ้ง พลจันทร) บิดาสืบเชื้อสายมาจากพระยาพล (จันท์) ผู้รั้งเมืองกาญจนบุรี ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นต้นสกุล "พลจันทร" และ พลกุล เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดราชบุรี ปี 2464 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงย้ายมาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2476 ศึกษาสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 เมื่อ พ.ศ.2479 จากนั้นเข้าศึกษาวิชากฏหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2483

คุณอัศนี ถือกำเนิดที่บ้านท่าเสา จ.ราชบุรี ได้รับการศึกษาอบรมจากคุณปู่และคุณย่า

ยุคทาสได้ผ่านพ้นไปนานแล้ว จำนวนทาสที่เคยมีอยู่ในบ้านท่าเสา ไม่มีใครยอมออกไปจากบ้านของท่าน การสืบทอดของคนเหล่านี้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมากมาย คนในจังหวัดราชบุรีเรียกบ้านของคุณปู่และคุณย่า ว่าบ้านรั้วใหญ่

คุณย่าเป็นผู้อบรมมารยาทและดูแลคุณอัศนีอย่างใกล้ชิด คุณปู่เป็นผู้สั่งสอนอบรมวิชาความรู้ให้ในทุกด้าน ตลอดถึงวิชาป้องกันตัว ที่เน้นหนักคือ "ดาบ"

พี่เลี้ยงคนที่เป็นหัวหน้า คุณอัศนีเรียกว่า พี่ เป็นผู้ควบคุมดูแลพี่เลี้ยงคนอื่นๆ ที่มีหน้าที่แตกต่างกันไปแต่ละคน

คุณย่าตั้งตู้กระจกประจันฝาบ้านไว้สำหรับใส่ตุ๊กตาที่เป็นตัว "โขน" คุณปู่เป็นผู้สอนให้คุณอัศนีรู้จักพากษ์โขน บทที่คุณอัศนี ชอบมาก "อินทรชิตบิดเบือนกายิน" เมื่อชอบตัวไหนก็จะหยิบออกมาดูจนพอใจ แล้วจะท่องกลอนที่จำมาจากคุณปู่ "หยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตา" พร้อมทั้งส่งตัว "โขน" กลับเข้าไปยืนอยู่ที่เดิม

การเรียนของคุณอัศนี นับว่าราบรื่น เมื่อขึ้นมาถึงชั้นประถมปีที่ 3 คุณครูประจำชั้นเคยเรียกมาลงโทษครั้งหนึ่ง ด้วยวิธีให้คุณอัศนี แบมือ คุณครูหยิบไม้บรรทัดตีกลางฝ่ามือหนึ่งแปะเท่านั้น แต่คุณครูได้เตรียมเขียนใบลาออกจากการสอนมาล่วงหน้า เมื่อ ตีคุณอัศนีเสร็จ ได้นำใบลาออกไปยื่นให้คุณครูใหญ่ จากนั้นคุณครูก็เดินกลับมาถึงห้องเรียน เริ่มเก็บอุปกรณ์การสอน สมุดเรียกชื่อนักเรียนคุณครูไม่สามารถจำนำไปได้ จึงนำสมุดเรียกชื่อนักเรียนมาเปิดดู และจดเอาชื่อนักเรียนในชั้นเพื่อจะนำติดตัวไปไวเป็นที่ระลึกถึง

คุณครูได้ยินเสียงขออนุญาตเข้ามาในห้องเรียน ยังไม่ทันได้อนุญาต ข้าทาส บ้านรั้วใหญ่ พากันเดินเข้ามาถึงโต๊ะสอนของคุณครู ถ้วยโถโอชามอันงามวิจิตรบรรจุอาหารคาวหวานมาครบครัน ในถาดใบใหญ่มีถาดเงินใบเล็กวางซองจดหมายของคุณย่ามาด้วย คุณครูเปิดซองจดหมายอ่านดู ด้วยความสะเทือนใจ น้ำตาของคุณครูไหลหลั่งมิยอมหยุด เมือระงับได้ จึงกราบฝากไปถึงคุณย่า

คุณครูเก็บุปกรณ์การสอนคืนเข้าสู่ที่เดิม เพื่อตระเตรียมการสอนในวันต่อไป

คุณอัศนีกลับมาถึงบ้าน คุณย่าทำเป็นไม่รู้เรื่องที่คุณอัศนีถูกลงโทษ (คุณอัศนี มารับราชการที่ จ.อยุธยา พบคุณครูท่านนี้ ความอบอุ่น ความเคารพรัก ระหว่างลูกศิษย์กับคุณครูเป็นที่กล่าวขานเลื่องลือกันทั่วไป)

การที่ถูกคุณครูลงโทษด้วยไม้บรรทัดเพียงแปะเดียวนั้น ทำให้คุณอัศนีได้ผ่าน "เบ้าหลอม" มองเห็นชีวิตของเพื่อนนักเรียนร่วมชั้น ความแตกต่างของเสื้อผ้า นักเรียนแต่ละคนจะรับวาจาทุกชนิดของผู้คนที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนได้ฉันมิตรและเพื่อน คุณอัศนีรู้สึกว่า ตัวเองเลื่อนลอยอยู่กลางอากาศ

ต่อมาคุณอัศนีชอบชวนพี่ชุบ ไปเที่ยวบ้านชาวจีน ผู้มาเช่าที่ดินของคุณย่าปั้นโอ่ง ปั้นไหขาย จนกระทั่งชาวจีนผู้นั้นคุ้นเคย จึงสอนภาษาจีนให้คุณอัศนี สอนวิธีจับตะเกียบ และรับประทานอาหารที่บ้านชาวจีนผู้นี้เป็นประจำ ต่อมาชาวจีนผู้นี้เล่าให้คุณอัศนีฟังว่า ในอดีตที่เขาอยู่บ้านเกิดเมืองแม่ของเขานั้น มีอาชีพเป็นครู ฝ่ายตรงข้ามมาหาว่าเขาเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลจะเอากันถึงขั้น "เผาจี่" จึงหอบเสื่อหมอนมาพึ่งโพธิสมภารประเทศไทย คุณอัศนีกลับจากบ้านชาวจีน ระหว่างทางเดินได้ถอดเครื่องถนิมพิมพ์ภาภรณ์ทิ้งไปตามคันไร่คันนา คุณย่าก็หามาใส่ให้อีก ท่านเป็นผู้ประดิษฐ์ทองรูปพรรณด้วยฝีมืออันงดงามประณีต เมื่อคุณอัศนีถอดทิ้งอีก คงเหลือไว้แต่แหวนวงเดียวที่คุณย่าบอกว่าเป็นของคุณแม่คุณอัศนี ต่อมาคุณอัศนีเป็นผู้ที่มีแหวนมากที่สุดคนหนึ่ง
เมื่อถึงวันโรงเรียนหยุดเรียน เช่น วันอาทิตย์หรือปิดเทอม คุณอัศนี ชวนพี่ชุบไปขี่ม้าและออกไปไกลมากขึ้น ถึงเวลาพักม้า พี่ชุบสอนให้คุณอัศนีรู้จักเลี้ยงม้า คุณอัศนี จึงสอนให้พี่ชุบหัดท่องสุภาษิต เช่น "หนทางไกลจึงรู้กำลังม้า เวลานานช้าจึงรู้นำใจคน" ภาษิตนี้จำมาจากคำสอนของคุณปู่
เรียนอยู่ที่โรงเรียนประจำจังหวัดก่อนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้เขียนเรื่อง "เกวลี" (ไม่ได้ตีพิมพ์ที่ใด) จากนั้นก็เข้ามาเรียนต่อโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2476 ศึกษาต่อชั้นมัธยมปลายแผนกภาษา จบชั้นมัธยม 8 พ.ศ.2479 จากนั้นจึงเข้าศึกษาวิชากฏหมาย
อายุ 19 ปี เขียนบทความโต้ ส.ธรรมยศ ในหนังสือสุภาพสตรีเรื่อง นิราศลำน้ำน้อย ของ (พระยาตรัง) ใช้นามปากกา นางสาวอัศนี
ขณะศึกษาอยู่ มธก. เวลาว่างจากการศึกษา คุณอัศนีจะเข้าไปหาความรู้จากพระในวัดมหาธาตุ ต่อจากนั้นก็ไปหอพระสมุด ที่นี่ คุณอัศนีถือว่าเป็น คลังสมบัติอันมหาศาล ถ้ารู้สึกหิวก็จะไปซื้อข้าวราดแกงสองจาน 5 สตางค์ ส่วนน้ำดื่มนั้นมีอยู่แล้วในกระติกที่นำติดตัวไป
ปี 2484 เกิดกรณีพิพาทกับอินโดจีน/ฝรั่งเศส รัฐบาลได้ปลุกระดมประชาชนไทยให้เดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส
ท่านผู้ประศาสนาการ มธก. เห็นว่าเรื่องควรแก้ด้วยการเจรจาไม่สนับสนุนการเดินขบวน นักศึกษาเห็นด้วย วันรุ่งขึ้น นักศึกษาเกิดเปลี่ยนใจจะเดินขบวน คุณอัศนี ยืนบนโต๊ะปลุกระดมให้นักศึกษาให้ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านผู้ประศาสนาการ ขณะนั้นมีรถถังแล่นเข้ามาในมหาวิทยาลัย นายทหารท่านหนึ่งลุกขึ้นยืนบนรถถังโต้กับคุณอัศนี ในทางเหตุผลความถูกต้องเป็นของคุณอัศนี นักศึกษาจำนวนหนึ่งเฮโลเข้ามาล้อมกรอบคุณอัศนี กำลังจะแจกหมัดมวย แต่แล้วเหตุการณ์อันน่าระทึกใจก็ผ่านพ้นไป
คุณอัศนีเดินออกจากมหาวิทยาลัยตรงไปยังบ้านญาติที่คุณอัศนีเก็บหนังสือและของใช้ไว้ที่นั่น ถึงบ้านแต่ยังมิทันได้เข้าไป ผู้ใหญ่ในบ้านได้ระดมยิงคำพูดและคำถามด้วยภาษานานาชนิด คึณอัศนีจึงเดินเลี่ยงเข้าไปเก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋า เดินออกจากบ้านในเวลาใกล้ค่ำแล้ว ถึง 3 ทุ่มจึงหาบ้านเช่าได้ เข้าไปในบ้าน เปิดกระเป๋าหยิบเสื้อผ้าออกมาปัดฝุ่น จากนั้นก็เอากระเป๋าหนุนหัวนอนแต่นอนไม่หลับตลอดคืน
เช้ามืดตรงไปมหาวิทยาลัย เห็นขบวนเคลื่อนออกมาเกือบถึงประตูมหาวิทยาลัย คุณอัศนีวิ่งเข้าไปจะรับคันธง ผู้ถือมาก่อนไม่ยอมให้ พูดว่าไม่เห็นด้วยจะมาถือธงมำไม? คุณอัศนีตอบว่า "ยืนยันตามเดิม แต่ผมทิ้งเพื่อนไม่ได้ ผิดก็ผิดด้วยกัน" เพื่อนนักศึกษาจึงได้มอบธงให้คุณอัศนี ตามหน้าทีที่คุณอัศนีจะต้องเป็นผู้ถือธงของมหาวิทยาลัย
21 กรกฎาคม 2484 เข้ารับราชการกรมอัยการ
1 มีนาคม 2485 คุณอัศนีถูกเนรเทศไปอยู่ จ.ปัตตานี ภายหลัง ญี่ปุ่นบกทหารขึ้นที่ปากน้ำตานีแล้ว เป็นเหตุให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น ก่อนเกิดสงครามจังหวัดปัตตานีอุดมสมบูรณ์ ชาวมุสลิมพื้นที่ไม่นิยมรับประทานกุ้งเล็กปลาน้อย ที่ว่ายเวียนมาใกล้เขตบ้านเรือน สัตว์เหล่านี้ได้ช่วยังชีพข้าราชการที่มีเงินเดือนน้อยให้อยู่รอด
คุณอัศนี อยู่จังหวัดปัตตานี 1 มีนาคม 2485-1 มีนาคม 2487 ย้ายมาอยู่จังหวัดสระบุรี เขียนกาพย์กลอน-บทความต่อต้านเผด็จการ คัดค้านการใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาล วิพากษ์
ปี 2489 เปิดคอลัมน์ "วรรณมาลา" สยามนิกรรายวัน
ปี 2490 เปิดคอลัมน์ "อักษรราวลี" สยามสมัย รายสัปดาห์
ปี 2492 เปิดคอลัมน์ "ปุษกริณี" นามปากา อินทรายุธ นิตยสารรายเดือน "อักษรสาส์น"
งานเขียนของคุณอัศนีได้ถูกเซ็นเซ่อร์จากเจ้าพนักงานการพิมพ์อย่างถี่ยิบ เฉพาะ "โคลง" ถูก "ตัด" วิธี "ตัด" ก็แตกต่างกันไป บทที่ชื่อ "ลองไปลองมา" "ตัด" เนื้อหาส่วนกลางออกเหลือเพียงส่วนต้นและส่วนท้าย บทที่ชื่อ "สัจฺจํ เว อมตา วาจา" ถูกตัดเนื้อเรื่องออกทั้งหมด เหลือเพียงชื่อเรื่องไว้เท่านั้น ส่วนบทที่ชื่อ
"กางเกงเปื้อน" และวิธี "ไหว้จ้าว" ถูกตัดทั้งเนื้อเรื่องและชื่อเรื่อง (โรงพิมพ์นำมาพิมพ์ภายหลัง)
ระหว่างรับราชการได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฏไทยและเบญจมาภรณ์ช้างเผือก ลาออกจากราชการปี 2495
นามปากกาของคุณอัศนีที่ค้นพบ
กุลิศ, กุลิศ อินทุศักดิ์, น.น.น., นางสาวอัศนี, นายผี, ประไพ วิเศษธานี, ศรีฯ, ศรีอินทรายุธ, สายฟ้า, หง, หง เกลียงกาม, อ.พ., อ.พลจันท์, อัศนี พลจันทร, ธ.บ, อัศนี พลจันท์, อำแดงกล่อม, อินทรายุธ, อุทิศ ประสานสภา และ อ.ส.
คารวะ
ป้าลม
ที่มา : ป้าลม.(2533).รำฤกถึงนายผี จากป้าลม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ทะเลหญ้า.
อ่านต่อ >>